การศึกษาทางไกลระหว่างโรงเรียนมัธยมปลายในไทยและอเมริกา
จาก The Lodi Enterprise e news (วิสคอนซิน, สหรัฐอเมริกา)
ตำนานของการเรียนรู้ระหว่างสองโรงเรียนในโครงการนำร่องของโลดี้ |
||||||
โดยเจนนิเฟอร์ เฟเทอรี่ บรรณาธิการเรียบเรียง เนื้อและน้ำแกงเขียวหวานเดือดปุดๆอยู่ในหม้อขณะนักเรียนกำลังเตรียมตัวสำหรับมื้อกลางวันในเช้าเย็นๆของเดือนธันวาคม กลิ่นหอมเข้มข้นที่เด็กๆได้กลิ่น บ่งบอกชัดว่าโรงเรียนวันนี้จะไม่ใช่วันเดิมๆอย่างทุกวัน นักเรียนบางคน ที่ไม่เคยลองอาหารไทยมาก่อนเลยในชีวิต กำลังก้าวข้ามสะพานของช่องว่างทางวัฒนธรรมที่กว้างเป็นหมื่นๆไมลล์ขณะที่ครูตุ๊กให้คำเตือนสำหรับพวกเขาในการสัมผัสประสบการณ์ครั้งแรก “ลองชิมช้อนเล็กๆก่อน แล้วค่อยเริ่มจากตรงนั้น” เธอเตือนเด็กๆถึงรสชาติจัดจ้านของอาหารบ้านเกิดของเธอเองผ่านหน้าจอ แต่โดยปราศจากความกลัว เหล่านักเรียนโดดลงมาเต็มตัว ไม่เพียงเฉพาะเรื่องอาหารแต่รวมถึงการเข้าร่วมการศึกษาทางไกลที่เพิ่งเริ่มในปีนี้ ร่วมกับโรงเรียนพี่น้องอย่างโรงเรียนสงวนหญิงในจังหวัดสุพรรณบุรี ส่วนหนึ่งของโครงการนี้ อาจารย์มาร์ค โคลฮ์ จะสอนนักเรียนไทยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาในขณะที่ครูตุ๊กจะสอนเด็กๆที่โลดี้เกี่ยวกับภูมิศาสตร์วัฒนธรรมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นักเรียนม.5 เบรียนนา สมิธ ลงเรียนในวิชานี้หลังการไปทัศนศึกษาที่ประเทศไทยกับโรงเรียนเมื่อปีที่แล้ว เธอปรารถนาที่จะเรียนรู้ให้มากขึ้น “มันยอดมากๆที่เราได้รับการสอนจากครูที่อยู่ในประเทศนั้นจริงๆ คนที่สามารถอธิบายเรื่องต่างๆได้ชัดเจนกว่าเมื่อเทียบกับการเรียนจากหนังสือ ในชั้นเรียนทั่วไป เมื่อคุณมีข้อสงสัยคุณต้องไปหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ท แต่ครูตุ๊กรู้เรื่องนั้นดีอยู่แล้ว มันสมจริงสมจังมากกว่าสำหรับเรา” สมิธว่าอย่างนั้นขณะที่กำลังหั่นผักสำหรับใส่ในแกงเนื้อ นักเรียนคนอื่นๆในชั้นไม่เคยไปประเทศไทยมาก่อน แต่ความกระหายที่จะเรียนรู้ชักจูงพวกเขาให้ลงเรียน นอกจากการสอนการทำอาหารไทย ครูตุ๊กยังสอนนักเรียนถึงความจริงอันมืดมนของประวัติศาสตร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่นเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เกิดขึ้นใน “ทุ่งสังหาร” ในกัมพูชา ที่ซึ่งทหารเขมรแดงฆ่าชาวบ้านนับล้าน เด็กนักเรียนยังได้เรียนรู้ว่าทำไมการปลูกปาล์มน้ำมัน ที่เราใส่มันในเนยถั่วและหมากฝรั่ง ถึงเป็นการทำลายพื้นที่ป่าดิบ รวมไปถึงชีวิตของลิงอุรังอุตังที่อาศัยอยู่ที่นั่น จาเนล แอนเดอสัน ครูที่ปรึกษาในชั้นเรียนวิชาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าวว่า ความตั้งใจที่จะเรียนรู้ของนักเรียนเป็นเหตุผลเพียงพอที่จะดำเนินการโครงการนำร่องนี้ต่อไป “นักเรียนเริ่มที่จะเข้าใจว่าพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนสังคมโลกใบนี้ เข้าใจว่าพวกเราทั้งหมดเชื่อมโยงถึงกัน นั่นคือสิ่งที่เราต้องการให้พวกเขาเข้าใจ ด้วยเหตุผลบางประการ มันง่ายกว่าที่ครูตุ๊กจะแสดงให้พวกเขาได้เห็นมัน เธอคือส่วนหนึ่งของโลกนี้และมันน่าเชื่อถือกว่าการจะมาบอกพวกเขาว่าสิ่งเหล่านั้นมันแย่เพียงไรที่นั่นจากปากของครูอเมริกัน” ครูแอนเดอสันกล่าว ขณะที่ในวิสคอนซิน การศึกษาทางไกลในโรงเรียนประถมและมัธยมไม่ใช่เรื่องใหม่ การทำงานของโลดี้ก้าวไปไกลว่านั้น จากการสำรวจของแผนกการศึกษาสาธารณะแห่งรัฐวิสคอนซิน โลดี้เป็นแห่งเดียวในรัฐที่มีนักเรียนลงชื่อเรียนในวิชาเรียนที่มีหน่วยกิตที่สอนโดยอาจารย์ต่างชาติ และทั้งหมดนั้นเริ่มต้นด้วยเงินเพียง 2,000 เหรียญสหรัฐที่ถูกใช้เพื่อจัดซื้อคอมพิวเตอร์แลปท้อปเพื่อให้ครูสามารถติดต่อกับนักเรียนได้จากโปรแกรมสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ท คณะบริหารของลอดี้อนุมัติโครงการนี้ในเงื่อนไขว่า งบประมาณด้านเทคโนโลยีครั้งเดียว และพวกเขาไม่จำเป็นต้องจ่ายเพิ่มเพื่อจ้างครูใหม่ ครูโคลฮ์สอนในเวลาเย็น ที่เด็กนักเรียนไทยจะเริ่มเรียนกับเขาในเวลาเจ็ดโมงเช้าตามเวลาที่แตกต่างกันถึง 13 ชั่วโมง เขากล่าวว่าปัญหาที่ท้าทายที่สุดคือเรื่องของเทคโนโลยี แต่ปรากฏเพียงน้อยครั้งที่จะมีปัญหาภาพไม่ชัดหรือการเชื่อมต่อมีปัญหา ขณะที่โรงเรียนในไทยมีอุปกรณ์เพียบพร้อม สำหรับรูปแบบของการเรียนการสอนทางไกล การขาดแคลนอุปกรณ์ที่จำเป็นอาจทำให้การขยายโครงการเป็นไปได้ช้า “ผมคิดว่าการเรียนการสอนทางไกลระหว่างประเทศเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาในอนาคตแต่ผมคิดว่าขณะนี้เรายังห่างไกลจากความสำเร็จด้วยเหตุผลทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน เราพยายามที่จะทำแบบนี้กับครูในประเทศอื่นและปัญหาหนึ่งที่เราพบก็คือการขาดแคลนเทคโนโลยีที่เหมาะสมและผู้เชี่ยวชาญ อเมริกาอาจเป็นประเทศที่ร่ำรวยและเพียบพร้อมด้านเทคโนโลยีที่จะรองรับแต่นั่นไม่ได้เกิดขึ้นเช่นกันในประเทศอื่น” แอนเดอสันกล่าว แต่นอกเหนือจากปัญหาดังกล่าว ผู้สนับสนุนโครงการมองว่าครูมีบทบาทสำคัญกว่าหลักสูตร มกราคมปีนี้ โคลฮ์สอนนักเรียนไทยชั้นม. 6 22 คนเรื่อง อารยะขัดขืน (civil rights movement) ชั่วโมงสุดท้ายก่อนการสอบคือวันคล้ายวันเกิดของมาติน ลูเธอร์ คิง ลองนึกภาพผู้นำแอฟริกัน-อเมริกัน กล่าวสุนทรพจน์ “I have a dream” ในวอชิงตัน ดี.ซี.เป็นการจบชั่วโมงสอน นักเรียนที่เรียนกับโคลฮ์บางคนพูดถึงเขาว่า “เป็นอาจารย์สอนประวัติศาสตร์ที่ฉลาดที่สุด” “มันดีมากๆที่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของอเมริกาและได้ความรู้เพิ่มขึ้นจากครูที่รู้จริงๆอย่างครูมาร์ค” เป็นคำพูดของนักเรียน ปิยะอร คำหวาน นักเรียนคนอื่นๆได้เรียนรู้เรื่องการค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมนอกเวลาเรียน “จะเห็นได้ว่าในห้องเรียนเราถามคำถามน้อยมากเพราะเราไม่มีความมั่นใจพอที่จะตั้งคำถาม ตอนที่เราเป็นเด็กเมื่อเราตั้งคำถามที่ตลกๆเราจะโดนเพื่อนล้อ” นนท์ บุญศรีสุวรรณ กล่าว “ในเมืองไทยเราต้องให้ความเคารพคุณครูและนั่นทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนกับครูดูห่างเหิน แต่ในการเรียนทางไกลแบบนี้เรารู้สึกได้ใกล้ชิดกับครูมาร์ค ครูมาร์คเป็นเหมือนคนในครอบครัวคนหนึ่งที่เราเจอเขาทุกๆวันตอนเช้า” โคลฮ์กล่าวว่าความสัมพันธ์ระหว่างเขากับนักเรียนนั้นแข็งแรงมาก จนเมื่อมีเด็กนักเรียนกลายเป็นคนไร้บ้านจากเหตุดอกไม้ไฟระเบิดที่สุพรรณบุรีเมื่อตรุษจีนที่ผ่านมา เขาได้เรียกระดมเงินจากครูและนักเรียนในโรงเรียนเพื่อช่วยเหลือเด็กๆที่ได้รับผลกระทบ ในขณะที่โครงการนี้กำลังก้าวขึ้นสู่ปีที่สอง ผู้สนับสนุนต่างหวังให้มันดำเนินต่อไป “หลังจากมีการพูดคุยกันกับเจ้าหน้าที่ทั้งที่นี่และที่ประเทศไทย เราต่างเห็นด้วยว่าโครงการนี้ได้ผลเกินความคาดหมายของเราในทุกๆด้าน, เทคโนโลยี, ความสัมพันธ์, คุณภาพของการศึกษาและมันเป็นการลงทุนที่ดี โครงการนี้ประสบความสำเร็จอย่างมากสำหรับทั้งสองฝ่าย” โคลฮ์กล่าว |